ฟุตบอลอังกฤษมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าสโมสรใดก็ต้องถือปฎิบัติเช่นนั้นมาเสมอ นั่นคือ แม้ทีมของคุณจะซื้อนักเตะเก่ง ๆ จากทั่วโลกมารวมตัวกันในทีมจนประสบความสำเร็จ แต่หนึ่งในความสำเร็จนั้นจะต้องมีนักเตะท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบด้วย
และนี่คือเรื่องรางของทีม วูล์ฟแฮมป์ตัน ที่ประกอบไปด้วยนักเตะตัวจริงที่เป็นชาวโปรตุเกส 8 คน ที่เหลือเป็น สเปน 1 คน และ เม็กซิโก 1 คน ส่วนนักเตะท้องถิ่นเพียงคนเดียวที่ยืนหยัดอยู่ได้ และเป็นถึงกัปตันทีมคือ “คอเนอร์ โคอาดี้”
ในทีมที่วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเต็มไปด้วยคนโปรตุกีสทั้งนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชเกิน 15 คน เหตุใดจึงไม่มีใครสามารถเป็นหัวใจของทีมได้เท่ากับ โคอาดี้ … เขาทำตัวอย่างไรจึงยังเป็นหัวหน้าที่นักเตะทุกคนยอมรับและเคารพในปลอกแขนที่เขาสวมใส่ ติดตามได้ที่นี่
ความล้มเหลวที่ แอนฟิลด์
คอเนอร์ โคอาดี้ เกิดที่ เซนต์ เฮเลนส์ เมอร์ซี่ย์ไซด์ แน่นอนว่าการเกิดที่เมืองนี้ทำให้เขามีสิทธิ์เลือกเชียร์เพียง 2 ทีมโดยหลัก นั่นคือ ลิเวอร์พูล และ เอฟเวอร์ตัน ซึ่งเจ้าตัวเลือกฝั่งสีแดงอย่าง ลิเวอร์พูล ตามคุณพ่อที่เป็นแฟนบอลหงส์แดงตัวยง
เขาเหมือนเด็กอังกฤษทั่วไปที่ต้องการจะเลือกเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ โชคดีที่ แอนดี้ โคอาดี้ พ่อของเขาเป็นคนบ้าฟุตบอลมาก จึงสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ และส่งลูกชายเข้าระบบเยาวชนของ ลิเวอร์พูล ตั้งแต่ 9 ขวบเลยทีเดียว
ช่วงเวลากับ ลิเวอร์พูล ของ โคอาดี้ นั้น ทุกคนรู้กันดีว่าเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเรียกว่า “นิว สตีเว่น เจอร์ราร์ด” เพราะเป็นเด็กท้องถิ่นและเล่นตำแหน่งกองกลางห้องเครื่องเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ลิเวอร์พูล ในยุคที่ โคอาดี้ เริ่มมีบทบาทตัวเด่นจากทีมยู 18 เป็นช่วงเวลาที่สโมสรจับต้นชนปลายไม่ถูก การเปลี่ยนโค้ช การบริหารของเจ้าของทีมที่ถูกเรียกว่า “ปลิงมะกัน” รวมถึงการซื้อตัวที่ผิดพลาด เน้นปริมาณแต่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักเตะท้องถิ่นหรือแข้งจากทีมเยาวชนอย่าง โคอาดี้ โดนมองข้ามเสมอ