อูดิเนเซ, กรานาดา และ วัตฟอร์ด 3 ทีมนี้ ส่งนักเตะให้กันใช้ไปๆมาๆ ไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง พวกเขาทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร? ในเมื่อไม่มีทีมไหนประสบความสำเร็จจริงจังเลย
นี่คือเรื่องราวการทำงานแบบ อิตาเลียน จ็อบ ของตระกูลนักธุรกิจจากอิตาลี ที่มีสโมสรระดับลีกสูงสุดใน 3 ลีกดังอยู่ในมือ
ทว่ายิ่งมากความก็กลายเป็นยิ่งมากเรื่อง.. จนตอนนี้ว่ากันว่า “ของกำลังจะเข้าตัว” พวกเขาแล้ว
มรดกของครอบครัว
เรื่องราวของการประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจนั้น บางครั้งมันก็เกี่ยวกับอิทธิพลของครอบครัว และตระกูล “ปอซโซ่” ในประเทศอิตาลีก็เป็นเช่นนั้นมาตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ปอซโซ่ นั้นเป็นตระกูลพ่อค้า ทำธุรกิจค้าไม้มาอย่างยาวนาน และเป็นคนหัวธุรกิจอย่างแท้จริงที่ไม่เคยหยุดแค่ธุรกิจเดียว หลายชั่วอายุคนผ่านไป ปอซโซ่ เริ่มขยับขยายกิจการด้วยการซื้อบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า จนร่ำรวยไปกันใหญ่ พวกเขาขยับฐานการผลิตและขยายจากอิตาลีไปยังประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สเปน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์และมั่งคั่งของตระกูลนี้
มันเหมือนกับคำว่า “ต้องรวยแค่ไหนถึงจะพอ?” คำถามนี้ช่างตอบได้ยากยิ่ง บางครั้งคนรวยขนาดที่ใช้เงินทั้งชีวิตก็ไม่หมด ยังคงต้องการทำงาน ทำเงิน ต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่มีหยุด เมื่อเข้าสู่ยุค 80s พวกเขากระโดดเข้าสู่วงการฟุตบอล จามเปาโล ปอซโซ่ ตัดสินใจหาทีมฟุตบอลที่จะสร้างธุรกิจอันใหม่ขึ้นมา โดยใช้ความหลงใหลเป็นกุญแจนำทาง
เขาเข้าเจรจากับบอร์ดบริหารของสโมสร อูดิเนเซ และจบเรื่องทุกอย่างอย่างง่ายดาย ตระกูล ปอซโซ่ กลายเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลครั้งแรกในปี 1986 และหลังจากนั้น พวกเขาก็ทำมันอย่างเอาจริงเอาจัง แม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินเป็นอันดับ 1 ในมือของพวกเขาก็ตาม
“ผมจะไม่โกหกใคร ฟุตบอลไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำให้เรารวยมหาศาลและสามารถเป็นธุรกิจหลักได้ แต่ผมขอยืนยันได้เลยว่า เราจะทำธุรกิจนี้ด้วยความสนุกและพาสโมสรไปยังทิศทางที่ถูกต้อง” จามเปาโล ปอซโซ่ ว่าเช่นนั้น